วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทความเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ


                                                            โลกร้อนขึ้นกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
              โลกเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น หลายคนถามว่าเป็นเพราะปัญหาโลกร้อนจริงหรือไม่ สุดท้าย ก็โยนไปให้เป็นความผิดของภาวะโลกร้อนซึ่งต้นตอก็มาจากฝีมือมนุษย์นั่นเอง
                   ภัยพิบัติทางธรรมชาติแยกออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
                           (1) ภัยจากน้ำและดินฟ้าอากาศ (Hydro-Meteorological) เช่น พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง
                           (2) ภัยจากธรณีวิทยา (Geophysical) เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นสึนามิ
                           (3) ภัยจากเชื้อโรค (Biological) เช่น โรคระบาดร้ายแรงต่างๆ
            การที่จะบอกว่า โลกเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเพราะสาเหตุโลก ร้อนนั้น ต้องมีหลักฐานมาพิสูจน์ ทั้งนี้ จากการค้นคว้าพบว่า ย้อนหลังไปตั้งแต่ ปี 2443 – 2548 หรือ     ร้อยปีที่ผ่านมา ระยะ 50 ปีแรก ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นน้อยมาก กราฟเริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 50 ปี      ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถิติน้ำท่วมสูงขึ้นอย่างผิดปกติ
                   หากดูสถิติในช่วงเวลาที่แคบลงมาอีกนิด คือ ระหว่างปี 2518-2548 หรือ ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กราฟภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นในระดับ 45 องศา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และความเสียหายด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล พบว่า น้ำท่วมมีมากที่สุด ( 30.7) รองลงมาคือพายุลม (26.6) จากนั้นเป็นโรคระบาด (11.2) และแผ่นดินไหว (8.6) แต่ภัยแล้งก็มีมากขึ้น (7.8) ดังเช่นที่ออสเตรเลียและแคลิฟอร์เนียเจอมาแล้ว ส่วนแผ่นดินถล่มน้อยที่สุด ภัยพิบัติประเภทสองมีไม่มาก แผ่นดินไหวบ่อยขึ้นแต่ยังน้อย ส่วนภูเขาไฟระเบิดมีน้อยมาก สำหรับประเภทที่สามนั้น โรคร้ายมีเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัดมากขึ้น มีโรคแปลกใหม่เกิดขึ้นและระบาดอย่างรวดเร็ว
                   หากแยกตามทวีปที่เกิดภัยพิบัติ พบว่า ทวีปแอฟริกาเจอปัญหาการแพร่กระจายของโรคร้ายแรงมากที่สุด ทวีปอเมริกาเจอปัญหาจากพายุเฮอร์ริเคนและน้ำท่วมมากที่สุด เอเชียเจอน้ำท่วม พายุและแผ่นดินไหว มากที่สุด ยุโรปเจอน้ำท่วม ส่วนโอเชียเนีย คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และหมู่เกาะแปซิฟิกเจอแผ่นดินไหวมากที่สุด แต่ในระดับที่ไม่รุนแรง
                   สถิติเฉพาะปี 2550ที่เพิ่งผ่านไป เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรวม 126 ครั้ง โดยสหรัฐเจอเข้าไปมากที่สุดซึ่งส่วนใหญ่เป็นพายุเฮอริเคนที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน 22 ครั้ง จีน 20 ครั้ง   อินเดีย 18 ครั้ง ฟิลิปปินส์ 16 ครั้ง อินโดนีเซีย 15 ครั้ง ปากีสถาน 9 ครั้ง ญี่ปุ่น 8 ครั้ง ที่เหลือกระจายกัน อย่างไรก็ดี ความเสียหายด้านชีวิตมนุษย์ในประเทศพัฒนาแล้วมีน้อยลง เพราะมีมาตรการป้องกัน การอพยพโยกย้ายประชาชน แต่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนยังมีมากเช่นเดิม ประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกในปี 2550 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์
                    ปี 2550 ภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินและต่อเศรษฐกิจมากที่สุด มาจากภัยน้ำท่วมเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ลมพายุ ส่วนแผ่นดินไหว อากาศหนาวเย็นจัด ภัยแล้ง ไฟป่า ดินถล่ม อยู่ในระดับต่ำ ที่มีน้อยมากคือภูเขาไฟระเบิดและคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า สตอร์ม เซิร์จ
                    สำหรับภูมิภาคที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดในปี 2550 คือ ทวีปเอเชีย (74.8%) ซึ่งส่วนใหญ่เจอพายุและน้ำท่วมเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจีน บังคลาเทศ อินเดีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียซึ่งเป็นเกาะ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและไต้หวัน ที่เจอพายุหลายสิบลูกในแต่ละปี ประเทศลุ่มน้ำโขง เช่น ไทยก็เจอน้ำท่วมเป็นประจำ ทวีปอเมริกา (12.2%) ส่วนใหญ่เจอพายุเฮอริเคนแถบรัฐชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก แอฟริกา (6.5%) ยุโรป (5.1%) โอเชียเนีย (1.4%)
                    ในปี 2551 ยังไม่มีสถิติแต่ พบว่า โลกเจอพายุ น้ำท่วม ไม่น้อยกว่าปีก่อน ถ้าหากบอกว่าโลกร้อนขึ้นจนทำให้บรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป เกิดภัยพิบัติมากขึ้น ก็น่าจะมีเหตุผลพอรับได้ แม้ว่ามนุษย์ยังไม่สามารถป้องกันหรือ ระงับภัยธรรมชาติได้ แต่ก็สามารถลดความเสียหายได้โดยเฉพาะชีวิตของผู้คน โดยการมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ สามารถอพยพประชาชนหนีภัยไปยังที่ปลอดภัยได้ล่วงหน้า วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าสามารถป้องกัน ยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะยังไม่สามารถรักษาโรคร้ายบางโรคให้หายขาดได้ก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น